ประชุมประสานภารกิจ ศธ. 43/2567

ประชุมประสานภารกิจ ศธ. 43/2567

เขียนโดย
ประชาสัมพันธ์ สสศ.
เขียนเมื่อ
19 ธันวาคม 2567 , 4 เดือนที่แล้ว
จำนวนการเข้าชม
169 ครั้ง

ประชุมประสานภารกิจ ศธ. 43/2567

     วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 43/2567 โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สศศ. ในฐานะรองโฆษก ศธ. พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting

     ซึ่งการประชุมวันนี้ ได้หารือถึงการเตรียมจัดงานวันเด็ก ประจำปี 2568 โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ ควรวางแผนให้ครบทุกด้านอย่างรัดกุม โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ที่ต้องประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น กองทัพไทย ภาคเอกชนที่จะมาร่วมในส่วนของอาชีวะอาสาด้วย

     รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) ซึ่งสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเชิงระบบที่มีวิสัยทัศน์ “ลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบให้เป็นศูนย์” ภายในปี 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ค้นหาและติดตาม มีมาตรการแก้ไข และพัฒนากลไกสนับสนุน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้รายงานผลสำรวจเด็กนอกระบบในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเด็กหลุดออกนอกระบบทั้งหมด 4,390 คน แบ่งเป็น พบตัว 1,379 คน ไม่พบตัว 3,011 คน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษากลับเข้ามาเรียน ในโครงการพาน้องกลับมาเรียนนำการเรียนไปให้น้อง โดยสามารถนำกลับเข้าระบบการศึกษา 22,086 คน ซึ่งในส่วนของเด็กตกหล่น มีการรายงานการลงพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้ข้อมูลมาครบในภาพรวมทั้งจังหวัด แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงให้ลงพื้นที่ต่อเนื่องอีก 15 วัน เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นในการช่วยเหลือเพื่อให้เกิด zero dropout ที่แท้จริง.

     “ประเด็นการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษานั้น ผมต้องการให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้ ซึ่งผมมอบหมายให้ สกร. ไปดำเนินการจัดทำโมเดลแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะจังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมในการทำเชิงบูรณการ โดยจะให้ สกร.บุรีรัมย์ เป็นหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งเท่าที่รับรายงานเบื้องต้นการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของจังหวัดบุรีรัมย์ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากพบสาเหตุหลักของเด็กหลุดระบบการศึกษานั้น มาจากความไม่พร้อมทางร่างกาย เช่น ไม่มีความสามารถทางการได้ยิน จึงทำให้ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นมิติใหม่ที่เราจะต้องแก้ปัญหาในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป โดยภายในเดือนมกราคม 2568 ผมจะลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วย ทั้งนี้ผมขอชื่นชมทุกหน่วยงานที่ช่วยกันแก้ปัญหาเด็กตกหล่นอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าอนาคตเด็กหลุดระบบจะเป็นศูนย์อย่างแน่นอน” รมว.ศึกษาธิการ

รูปภาพเพิ่มเติม

Social Media

ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่