
ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ม.3 ณ สนามสอบโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ และรูปแบบออนไลน์
ตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ม.3 ณ สนามสอบโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ และรูปแบบออนไลน์
วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (ผอ.สศศ.) นางนภาพร พงษ์ขัน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2567 ณ สนามสอบโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน (นายสุทธิเกียรติ พันธ์เสนา) และคณะครูให้การต้อนรับ
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2567 จัดการทดสอบในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย
(1) ภาษาไทย (2) ภาษาอังกฤษ (3) คณิตศาสตร์ และ (4) วิทยาศาสตร์ ดำเนินการทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ (Paper Pencil) และการทดสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) สำหรับสนามสอบที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในปีนี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบทั้งหมด 557,479 คน จำแนกเป็น
**ทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ (Paper Pencil) ผู้มีสิทธิ์สอบจำนวน 537,743 คน
**ทดสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) ผู้มีสิทธิ์สอบจำนวน 19,736 คน
ทั้งนี้ สทศ. ได้ดำเนินการตามพันธกิจซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ (รู้ในสิ่งที่ควรรู้) ฉลาดคิด (คิดอย่างมีเหตุผล) ฉลาดทำ (ทำในสิ่งที่มีประโยชน์) สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
นอกจากนี้ สทศ. ได้ส่งเสริมการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA โดยได้เปิดระบบให้สถานศึกษาส่งข้อมูลนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเข้ารับการทดสอบ O-NET เพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 6 – 13 มกราคม 2568 ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นเครื่องสะท้อนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา สำหรับนักเรียนสามารถนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบในอนาคต ในส่วนของสถานศึกษาสามารถนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาภาพรวมของประเทศ