
ผลการประชุมประสานภารกิจ ศธ. ครั้งที่ 7/2568
ผลการประชุมประสานภารกิจ ศธ. ครั้งที่ 7/2568
วันที่ 5 มีนาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 7/2568 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สศศ. ในฐานะรองโฆษก ศธ. พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
#ซึ่งที่ประชุมได้รายงานการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล
สพฐ. ได้รายงานความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 305,098 คน อบรมแล้วเสร็จ จำนวน 161,848 คน พร้อมทั้งได้นำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ 3 ด้าน ไปใช้ในห้องเรียนและมีการนำไปใช้เป็นแนวทางสร้างแบบวัดผลกลางภาค/ปลายภาค ใช้เป็นแบบฝึกนักเรียน ใช้ในการประเมินแบบ Formative ระหว่างเรียน นอกจากนี้ เตรียมทดลองซ้อมสอบนักเรียนชั้น ม.2 ผ่าน PISA Style ทั้งหมด 539,464 คน ในระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอบรมเตรียมสอบ
ส่วน สกศ. ได้รายงานการเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย เทียบเท่ามาตรฐานสากล และเตรียมจัดทำ MOU โดยใช้ AI ช่วยยกระดับ Learning Outcome ของผู้เรียน
- การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
สทศ. ได้รายงานการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2567 ชั้น ป.6 ซึ่งมีผู้เข้าสอบทั้งหมด 692,696 คน ส่วนชั้น ม.3 เข้าสอบทั้งหมด 508,839 คน และ ม.6 เข้าสอบทั้งหมด 218,180 คน โดยได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ถึงเหตุผลที่เข้ารับการทดสอบ O-NET พบว่า เพื่อวัดความรู้ความสามารถของตนเอง ร้อยละ 78.66 สอบตามที่สถานศึกษาแจ้ง ร้อยละ 43.71 และเพื่อใช้ผลการศึกษาต่อ ร้อยละ 38.50 ทั้งนี้ นักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจด้านระบบดิจิทัลและอุปกรณ์ที่ใช้สอบ ด้านบริหารจัดการทดสอบ ในหัวข้อสถานที่สอบ ห้องสอบสะอาด วันและเวลาทดสอบที่มีความเหมาะสม และได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เสถียรในบางพื้นที่ โหลดได้ช้า
- รายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout)
สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (Thailand Zero Dropout)
ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ 3 มีนาคม 2568 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน
- ติดตามแล้ว 976,1781 คน (ร้อยละ 95.25) สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 321,640 คน (ร้อยละ 31.36) และ ยังไม่ได้ติดตาม 48,733 คน (ร้อยละ 4.75)
- การติดตามข้อมูลเด็กในวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
ขณะนี้สามารถติดตามเด็กภาคบังคับ (6-15 ปี) เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 74,092 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73 โดย สพฐ. ยังดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” และการศึกษาที่ยืดหยุ่น “โครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มีโรงเรียนต้นแบบการดำเนินการ (โรงเรียนพี่เลี้ยง) จำนวน 54 โรงเรียน และโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ
จำนวน 927 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบ
“นอกจากนี้ ได้ย้ำเตือนที่ประชุมเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้บริหาร ครู และข้าราชการ จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เด็กห่างไกลยาเสพติด หากใครเข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งนี้ สป. ได้รายงานแผนและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมี 3 ระยะ คือ ระยะสั้น การป้องกัน แก้ไขปัญหา และสนับสนุนระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาทั้งในและนอกสถานศึกษา ระยะกลาง สร้างแนวปฏิบัติเพื่อการขยายผล ใช้เทคนิคการสร้างเครือข่าย “เพื่อนเตือนเพื่อน” ในทุกสถานศึกษา ผ่านกิจกรรมของสภานักเรียน และระยะยาว ใช้มาตรการส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่อง ปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษา ตระหนักในความรุนแรงของปัญหาบุ หรี่ไฟฟ้า อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และ โทษภัยที่จะได้รับทั้งทางกฎหมาย และ ด้านสุขภาพ พร้อมจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจตรวจค้น ยึด อายัด บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า เพื่อทำลายต่อไป โดยได้มอบ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบ และมอบ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน ประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง และจังหวัด”